เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 กรมสรรพากรได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 355 กำหนดให้สถาบันการเงินรวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องส่งรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร โดยสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเมื่อ มียอดฝากหรือรับโอนเงิน (ไม่นับการโอนจ่ายหรือโอนเงินระหว่างบัญชีของตัวเอง) รวมกันทุกช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และ Internet Banking ในแต่ละธนาคาร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป (นับเฉพาะจำนวนครั้ง ไม่ว่ามูลค่าเงินเท่าใด) หรือ

2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป (ต้องเข้าสองเงื่อนไข ทั้งจำนวนครั้งและมูลค่าเงิน)

ทั้งนี้ การนับยอดทำธุรกรรมจะเป็นแบบปีต่อปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ 

กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับเพียงผู้ประกอบการออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงใครก็ตามที่ได้รับฝาก/รับโอนเงินที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากร แต่ไม่ได้หมายความว่าสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีได้ทันที จะต้องตรวจสอบร่วมกับข้อมูลอื่นๆและประเมินก่อนว่ารายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ หากไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่เสียภาษี แต่หากถึงเกณฑ์ ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง

หากพบว่าตนเองเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ข้างต้น นอกจากการเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการชี้แจงกับกรมสรรพากร ในการพิจารณาภาษีในปีที่ผ่านมา การเตรียมการสำหรับการเสียภาษีอย่างถูกต้องในอนาคตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องในอดีตนำมาซึ่งการต้องชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มในภายหลัง จึงควรพิจารณาหาวิธีการในการจัดทำระบบบัญชีที่เหมาะสมสำหรับกับธุรกิจ เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องต่อไป

Scroll to Top